พลตรี มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภาและอดีต ส.ส.ระบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เดิมมีชื่อว่า "มนูญ" เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2478 จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 7 (จปร.7) จากนั้นได้ไปเรียนหลักสูตรผู้บังคับกองร้อยที่จังหวัดสระบุรี มีผลการเรียนดีด้วยการสอบได้ที่ 1 และได้ทุนไปเรียนต่อที่ฟอร์ตนอกซ์ สหรัฐอเมริกา จึงได้รู้จักกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
จากนั้นจึงกลับมารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดอาวุโสที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ในปี พ.ศ. 2509 พล.ต.มนูญกฤตเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองด้วยการเป็นคนสนิทของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีตผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการหลายกระทรวง
หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พล.ต.มนูญกฤตได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแผ่นดิน และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2520 แต่ในเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ที่นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญสิริ พล.ต.มนูญกฤตซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาการกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) ได้นำรถถังออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ปรากฏว่าฝ่าย พล.อ.ฉลาดเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และกลายเป็นกบฏ
ต่อมาในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.ต.มนูญกฤตเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกระทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ คือ กบฏเมษาฮาวาย ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ทำให้ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และถูกถอดยศทางทหาร ซึ่งในขณะนั้นมียศ พันเอก (พ.อ.) และอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือ กบฏ 9 กันยา ได้ร่วมมือกับ พล.อ.อ.มนัส รูปขจร น้องชายของตนซึ่งขณะนั้นมียศ นาวาอากาศโท (น.ท.) และดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) นำกองกำลังและรถถังออกปฏิบัติการ แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ต้องหลบหนีอีกครั้ง
ก่อนจะกลับมาสู้คดีในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งรวมถึงคดีวันลอบสังหารด้วย พร้อมกับได้เปลี่ยนชิ่อมาเป็น มนูญกฤต เช่นในปัจจุบัน ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงได้คืนยศทางทหาร และคดีวันลอบสังหารศาลได้สั่งยกฟ้อง ด้วยความช่วยเหลือของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งหันมาเล่นการเมืองแล้วในขณะนั้น
จนกระทั่งในวันที่ 4 มีนาคม ปี พ.ศ. 2543 ได้ลงเลือกตั้งเป็นวุฒิสภาชิกจังหวัดสระบุรี ได้รับเลือกตั้ง และได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา
ในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในต้นปี พ.ศ. 2549 พล.ต.มนูญกฤตในฐานะอดีตประธานวุฒิสภาได้ขึ้นเวทีในรายการ "รู้ทันประเทศไทย" ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แฉถึงพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณที่มีต่อสมาชิกวุฒิสภาในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ก่อนที่จะลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วนเขตที่ 7 ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่ได้ลาออกในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ซึ่งตรงกับวันที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้บุกยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ในการชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน ซึ่ง พล.ต.มนูญกฤตได้ให้เหตุผลในการลาออกครั้งนั้นว่าเพราะ สุขภาพไม่ดี
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ได้ออกมาเปิดเผยว่า พล.ต.มนูญกฤต เป็นผู้ให้ข้อมูลตนเกี่ยวกับประเด็นเงินบริจาค 258 ล้านบาท ที่บริษัททีพีไอ บริจาคให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ด้วยวิธีการที่มิชอบ ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคและทางฝ่ายค้านก็ได้นำข้อมูลนี้เป็นหัวข้อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย
ปัจจุบัน พล.ต.มนูญกฤตยังจบการศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์